วันพฤหัสบดีที่ 19 เมษายน พ.ศ. 2555

                             พุทธการกธรรม
                                   
ธรรมที่จะทำให้เป็นพระพุทธเจ้า

อัฏฐธรรมสโมธาน

ความถึงพร้อมด้วยธรรม ๘ ประการ

พระโพธิ์สัตว์ คือ ผู้ตั้งความปรารถนาที่จะเป็นพระพุทธเจ้า ความปรารถนานี้จะสำเร็จหรือไม่นั้น สิ่งหนึ่งที่จะบอกได้ คือ การได้รับพุทธพยากรณ์ ในชาติที่พระโพธิ์สัตว์จะได้รับพุทธพยากรณ์ (ครั้งแรก) นั้น นอกจากจะต้องบำเพ็ญบารมีมามากพอแล้ว ในชาตินั้นยังจะต้องถึงพร้อมด้วยธรรม ๘ ประการคือ

๑. เกิดเป็นมนุษย์
๒. เกิดเป็นชาย
๓. สามารถสำเร็จเป็นพระอรหันต์ได้ในชาตินั้น
๔. ได้พบพระพุทธเจ้า
๕. ได้ออกบวช
๖. สมบูรณ์ด้วยสมาบัติ ๘ อภิญญา ๕
๗. ยอมสละชีวิตตนเพื่อพระพุทธเจ้าได้
๘. มีฉันทะ วิริยะ อุตสาหะ แสวงหาอย่างใหญ่ เพื่อประโยชน์แก่พุทธการกธรรมทั้งหลาย

พุทธการกธรรม

พระโพธิสัตว์ทุกพระองค์ หลังจากที่ได้รับพุทธพยากรณ์ครั้งแรกว่า ท่านจะได้เป็นพระพุทธเจ้าแน่แท้ในอนาคต แล้วก็จะพิจารณา พุทธการกธรรม (ธรรมที่ทำให้เป็นพระพุทธเจ้า) ซึ่งพระโพธิ์สัตว์องค์ก่อนๆ ได้บำเพ็ญมาแล้ว ว่ามีอะไรบ้าง และจะต้องบำเพ็ญหรือปฏิบัติต่อข้อธรรมแต่ละข้ออย่างไร

พระโพธิ์สัตว์จะพิจารณาพุทธการกธรรมทีละข้อๆ เมื่อพิจารณาจบแต่ละข้อ ก็จะหาต่อไปว่า ยังมีธรรมข้ออื่นที่ต้องบำเพ็ญอีกหรือไม่ ถ้าพบว่ายังมีอีก ก็จะพิจารณาต่อไปอีกจนครบทั้งหมด ๑๐ ข้อ ซึ่งก็คือ บารมี ๑๐ หรือ ทศบารมี นั่นเอง

พุทธการธรรมที่พระโพธิสัตว์พิจารณา และเห็นว่าเป็นธรรมที่ต้องบำเพ็ญเพื่อความเป็นพระพุทธเจ้า มีดังนี้

๑. ทานบารมี ในข้อนี้พระโพธิ์สัตว์จะตั้งใจว่า นับแต่นี้ไป เราพึงบำเพ็ญทานบารมีเหมือนอย่างหม้อน้ำที่มีน้ำเต็มแล้วคว่ำลง หม้อน้ำนี้ย่อมคายน้ำออกจนหมดสิ้นฉันใด เราก็พึงให้ทานแก่ยาจกโดยไม่มีส่วนเหลือฉันนั้น

๒. ศีลบารมี ในข้อนี้พระโพธิสัตว์จะตั้งใจว่า นับแต่นี้ไป เราพึงบำเพ็ญศีลบารมีเหมือนอย่าง จามรี ชื่อว่าจามรีย่อมไม่อาลัยแม้ชีวิต รักษาพวงหางของตนฉันใด เราก็พึงรักษาศีลโดยไม่อาลัยแม้ชีวิตฉันนั้น

๓. เนกขัมมบารมี ในข้อนี้พระโพธิสัตว์จะตั้งใจว่า นับแต่นี้ไปเราพึงบำเพ็ญเนกขัมมบารมี เหมือนอย่างนักโทษ ที่ถูกขังและได้รับทุกข์ทรมานในเรือนจำเป็นเวลานาน เขาผู้นั้นย่อมไม่อยากอยู่ในเรือนจำ ต้องการพ้นออกไปฉันใด เราก็พึงเห็นภพทั้งปวงเป็นเสมือนเรือนจำ อยากพ้นไปจากภพทั้งปวงด้วยการมุ่งสู่เนกขัมมะฉันนั้น

๔. ปัญญาบารมี ในข้อนี้พระโพธิสัตว์จะตั้งใจว่า นับแต่นี้ไป เราพึงบำเพ็ญปัญญาบารมี เหมือนอย่างพระภิกษุ พระภิกษุเมื่อออกบิณฑบาตโดยไม่เลือกตระกูลว่าจะมีฐานะสูง ต่ำ หรือปานกลาง ย่อมได้อาหารเพียงพอแก่อัตภาพฉันใด เราก็พึงเข้าไปหาบัณฑิตทุกท่าน เพื่อถามปัญหาฉันนั้น

๕. วิริยะบารมี ในข้อนี้พระโพธิสัตว์จะตั้งใจว่า นับแต่นี้ไป เราพึงบำเพ็ญวิริยะบารมีเหมือนอย่างพญาราชสีห์ ชื่อว่าพญาราชสีห์ย่อมมีความเพียร ไม่ย่อหย่อนในอิริยาบถทุกเมื่อฉันใด เราก็พึงมีความเพียรอันมั่นคงในภพทั้งปวงฉันนั้น

๖. ขันติบารมี ในข้อนี้พระโพธิ์สัตว์จะตั้งใจว่า นับแต่นี้ไป เราพึงบำเพ็ญขันติบารมีเหมือนอย่างแผ่นดิน ชื่อว่าแผ่นดินย่อมทนได้ต่อสิ่งของที่มีผู้ทิ้งลงไป ไม่ว่าจะสะอาดหรือสกปรกฉันใด เราก็พึงเป็นผู้อดทนต่อการยกย่องและการดูหมิ่นของคนทั้งปวงได้ฉันนั้น

๗. สัจจบารมี ในข้อนี้พระโพธิ์สัตว์จะตั้งใจว่า นับแต่นี้ไป เราพึงบำเพ็ญสัจจบารมีเหมือนอย่างดาวประกายพรึก ชื่อว่าดาวประกายพรึกย่อมไม่หลีกออกไปทางอื่น โคจรอยู่เฉพาะในทางของตนฉันใด เราก็พึงไม่ก้าวล่วงจากวิถีในสัจจะ พูดแต่ความจริงฉันนั้น

๘. อธิษฐานบารมี ในข้อนี้พระโพธิ์สัตว์จะตั้งใจว่า นับแต่นี้ไปเราพึงบำเพ็ญอธิฐานบารมีเหมือนอย่างภูผาหิน ชื่อว่าภูผาหินย่อมตั้งมั่นอยู่ได้ ไม่หวั่นไหวด้วยแรงลมฉันใด เราก็จงเป็นผู้ตั้งมั่นไม่คลอนแคลนในอธิฐานบารมีฉันนั้น

๙. เมตตาบารมี ในข้อนี้พระโพธิ์สัตว์จะตั้งใจว่า นับแต่นี้ไป เราพึงบำเพ็ญบารมีเหมือนอย่าง น้ำ ชื่อว่าน้ำย่อมทำให้รู้สึกและชำระฝุ่นผงทั้งแก่คนดีและคนไม่ดีเสมอกันฉันใด เราก็พึงแผ่เมตตาทั้งแก่คนที่ทำประโยชน์และคนที่ไม่ได้ทำประโยชน์เสมอกันฉันนั้น

๑๐. อุเบกขาบารมี ในข้อนี้พระโพธิสัตว์จะตั้งใจว่า นับแต่นี้ไปเราพึงบำเพ็ญอุเบกขาบารมี เหมือนอย่างแผ่นดิน ชื่อว่าแผ่นดินย่อมวางเฉย ไม่รู้สึกยินดียินร้ายต่อสิ่งของที่มีผู้ทิ้งลงไป ไม่ว่าจะสะอาดหรือไม่สะอาดฉันใด เราก็พึงเป็นผู้วางเฉย มีใจเสมอกันทั้งในความสุขและความทุกข์ฉันนั้น

เมื่อพิจารณาจนเห็นพุทธการกธรรมทั้ง ๑๐ ข้อนี้แล้ว พระโพธิสัตว์ก็รู้ว่าธรรมทั้งหลายที่พระโพธิสัตว์องค์ก่อนๆ ได้บำเพ็ญมาแล้วเพื่อความเป็นพระพุทธเจ้ามีเพียงเท่านี้ ไม่มีข้ออื่นอีก และธรรมเหล่านี้ก็ไม่ได้มีอยู่แม้ในอากาศหรือในทิศใดๆ เลย

"แต่ว่าตั้งอยู่ในใจของเราเท่านั้น เราพึงตั้งใจมั่นในบารมีเหล่านี้ทั้งหมด"

พระโพธิ์สัตว์จะพิจารณาพุทธการกธรรมทั้ง ๑๐ ข้อนี้ทั้งอนุโลมและปฏิโลม คือจากต้นไปยังปลาย และจากปลายย้อนกลับมายังต้น เมื่อพระโพธิสัตว์พิจารณาอยู่อย่างนี้อยู่หลายรอบ แผ่นดินก็ไหว เกิดเสียงกัมปนาท

มนุษย์และเทวดาที่อยู่ในที่นั้น ต่างพากันมาบูชาพระโพธิสัตว์ด้วยดอกไม้ และของหอม เป็นต้น กล่าวสดุดีพระโพธิ์สัตว์ว่า "วันนี้ท่านปรารถนา ความปรารถนาอันยิ่งใหญ่ ขอความปรารถนานั้นจงสำเร็จแก่ท่าน"

มหาวิโลกนะ

มหาวิโลกนะ "การตรวจดูอันยิ่งใหญ่" ข้อตรวจสอบพิจารณาที่สำคัญ หมายถึง สิ่งที่พระโพธิสัตว์ทรงพิจารณาตรวจดู ก่อนจะตัดสินพระทัยประทานปฏิญาณรับอาราธนาของเทพยดาทั้งหลาย ว่าจะจุติจากดุสิตเทวโลก ไปบังเกิดในพระชาติสุดท้ายที่จะตรัสรู้เป็นพระพุทธเจ้า มี ๕ อย่าง (นิยมเรียกว่า ปัญจมหาวิโลกนะ) คือ

๑. กาล คือ อายุกาลของมนุษย์จะต้องอยู่ระหว่าง ๑๐๐ ถึง ๑ แสนปี (ไม่สั้นกว่าร้อยปี ไม่ยาวเกินแสนปี)

๒. ทีปะ คือ ทวีป จะอุบัติแต่ในชมพูทวีป

๓. เทสะ คือ ประเทศ หมายถึงดินแดน จะอุบัติในมัธยมประเทศและทรงกำหนดเมืองกบิลพัสดุ์เป็นที่พึงเกิด

๔. กุละ คือ ตระกูล จะอุบัติเฉพาะในขัตติยสกุลหรือในพราหมณสกุล และทรงกำหนดว่า เวลานั้นโลกสมมติว่าตระกูลกษัตริย์ประเสริฐกว่าตระกูลพราหมณ์ จึงจะอุบัติในตระกูลกษัตริย์ โดยทรงเลือกพระเจ้าสุทโธทนะเป็นพุทธบิดา

๕. ชเนตติอายุปริจเฉท คือ มารดา และกำหนดอายุของมารดา มารดาจะต้องมีศีลห้าบริสุทธิ์ ไม่โลเลในบุรุษ ไม่เป็นนักดื่มสุรา ได้บำเพ็ญบารมีมาตลอดแสนกัลป์ ทรงกำหนดได้พระนางมหามายา และทรงทราบว่าพระนางจะมีพระชนม์อยู่เกิน ๑๐ เดือน ไปได้ ๗ วัน

หมายเหตุ : พุทธบิดาและพุทธมารดาในข้อ ๔ และข้อ ๕ หมายถึง พุทธบิดาและพุทธมารดาของพระพุทธเจ้าองค์ปัจจุบัน ถ้าเป็นของพระพุทธเจ้าองค์อื่นจะมีชื่อและตระกูลต่างกัน

(สรุปตามแนวอรรถกถาชาดก)

จากหนังสือพจนานุกรมพุทธศาสน์ ฉบับประมวลศัพท์
ของพระพรหมคุณาภรณ์ (ประยุทธ์ ปยุตโต) หน้า ๒๒๓-๒๒๔

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น