วันเสาร์ที่ 14 สิงหาคม พ.ศ. 2553

ปิดทองหลังพระ


พระบรมราโชวาท ปิดทองหลังพระ


“…การทำงานด้วยน้ำใจรักต้องหวังผลงานนั้นเป็นสำคัญ แม้จะไม่มีใครรู้ใครเห็น
ก็ไม่น่าวิตก เพราะผลสำเร็จนั้นจะเป็นประจักพยานที่มั่นคง ที่พูดเช่นนี้ เหมือนกับ
สอนให้ปิดทองหลังพระ การปิดทองหลังพระนั้น เมื่อถึงคราวจำเป็นก็ต้องปิด
ว่าที่จริงแล้วคนโดยมากไม่ค่อยชอบปิดทองหลังพระกันนัก เพราะนึกว่า
ไม่มีใครเห็น แต่ถ้าทุกคนพากันปิดทองแต่ข้างหน้า ไม่มีใครปิดทองหลังพระเลย
พระจะเป็นพระที่งามบริบูรณ์ไม่ได้…”

พระบรมราโชวาท พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ในพิธีพระราชทานปริญญาบัตร
ของจุฬาลงกรณ์ ณ หอประชุมจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย วันที่ 25 กรกฎาคม 2506
ทรงเตือนสติทุกคนให้ทำงานด้วยความตั้งใจ ด้วยความรู้ ความสามารถ
และความสุจริต แม้งานที่ทำนั้นอาจไม่มีผู้ใดทราบ แต่เมื่อเป็นงานที่ก่อให้เกิด
ประโยชน์ต่อส่วนรวมและประเทศชาติแล้ว ควรที่จะทำแม้จะเป็นการทำในลักษณะ
ปิดทองหลังพระก็ตาม เพราะถ้าทุกคนคิดแต่จะปิดทองหน้าพระ ทำงานเอาหน้า
ทำอะไรต้องให้มีผู้รู้ผู้เห็นก็เป็นสิ่งที่ไม่ถูกต้องนัก รวมทั้งไม่ก่อให้เกิดประโยชน์
แก่ประเทศชาติได้อย่างสมบูรณ์ครบถ้วน

นอกจากนี้แล้ว พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ได้พระราชทานพระบรมราโชวาท
เป็นการเตือนสติข้าราชการทุกคน เนื่องในโอกาสวันข้าราชการพลเรือน
1 เมษายน 2533 ให้ทำงานโดยคำนึงถึงผลงานที่ปฏิบัติ มากกว่าผลประโยชน์
อย่างอื่น เหมือนดังเช่นการปิดทองหลังพระ

“…ในการปฏิบัติราชการนั้น ขอให้ทำหน้าที่เพื่อหน้าที่ อย่านึกถึงบำเหน็จรางวัล
หรือผลประโยชน์ให้มาก ขอให้ถือว่าการทำหน้าที่ได้สมบูรณ์เป็นทั้งรางวัลและ
ประโยชน์อย่างประเสริฐ จะทำให้บ้านเมืองของเราอยู่เย็นเป็นสุขและมั่นคง…”


พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว พระราชทานพระบรมราโชวาท ในพิธีพระราชทาน
ปริญญาบัตรของ วิทยาลัยเทคโนโลยีและอาชีวศึกษา วันที่ 8 กรกฎาคม 2530
เกี่ยวกับการทำงานว่า เมื่อมีโอกาสและมีงานทำ ควรเต็มใจทำโดยไม่จำต้อง
ตั้งข้อแม้หรือเงื่อนไขอันใดไว้ให้เป็นเครื่องกีดขวาง.


โอภาส เสวิกุล…..เรียบเรียง
16 กพ. 44

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น