วันศุกร์ที่ 13 สิงหาคม พ.ศ. 2553

นิพพานมีจริงหรือไม่

นิพพานนั้นมีจริงหรือไม่จะพิสูจน์ได้อย่างไรว่านิพพานมีจริง?

มีนะมีอยู่ เพราะท่านผู้ใดบรรลุนิพพานมีมากต่อมากตามหลักฐานทางพระพุทธศาสนา การที่จะพิสูจน์ว่านิพพานมีอยู่หรือไม่อย่างไรนั้น ต้องพิสูจน์ตามกรรมวิธีที่ท่านผู้ได้บรรลุนิพพานได้พิสูจน์มาแล้ว เหมือนการพิสูจน์รสอาหารด้วยลิ้น การพิสูจน์เสียงด้วยหูฉะนั้น เครื่องมือในการพิสูจน์ว่านิพพานมีอยู่จริงหรือไม่คือ อริยมรรคมีองค์ ๘ประการ ซึ่งเป็นข้อปฏิบัติเพียงอย่างเดียวที่จะนำคนให้พบเห็นพระนิพพานด้วยปัญญาของตน มรรคมีองค์ ๘ประการคือ

"ปัญญาอันเห็นชอบ ความดำริชอบ การเจรจาชอบ ทำการงานชอบ เลี้ยงชีวิตชอบ ทำความพยายามชอบ ระลึกชอบ ตั้งใจมั่นชอบ"

หากใครต้องการพิสูจน์ให้ประจักษ์ชัดด้วยตนเองก็ต้องปฏิบัติไปตามอริยมรรคมีองค์ ๘ ประการนี้ให้บริบูรณ์ไม่บกพร่อง แล้วก็จะรู้ได้ด้วยตนเองเพราะนิพพานเป็นบรมธรรม อันวิญญูชนจะพึงรู้ได้เฉพาะตนเหมือนกับผู้บริโภคอาหารชนิดนั้นๆเท่านั้นจึงจะทราบรสอาหารด้วยตนเองการอธิบายเรื่องรสอาหารไม่อาจให้ทราบรสอาหารที่แท้จริงได้ฉันใด ลักษณะแห่งนิพพานก็มีลักษณะเช่นเดียวกันฉันนั้น

หากว่ายังไม่อาจที่จะปฏิบัติตามมรรคมีองค์ ๘ ประการ ให้บริบูรณ์ได้บุคคลควรปฏิบัติตนอย่างไรจึงสามารถทำใจให้ยอมรับความมีอยู่แห่งนิพพานได้?

นิพพานนั้นอาจแบ่งได้ ๒ ระดับ คือ

นิพพานที่เป็นส่วนเหตุได้แก่การขจัดกิเลสให้ออกไปจากจิต จิตเป็นอิสระไม่ต้องทำอะไรไปตามอำนาจของกิเลสอย่างสามัญชน

นิพพานที่เป็นส่วนผลที่เกิดสืบเนื่องมาจากการละกิเลสได้เป็นสภาพที่ไม่ถูกแผดเผาด้วยเพลิงกิเลสและเพลิงทุกข์กลับเป็นความสงบ ความสุขอย่างแท้จริง

ตามที่ท่านแสดงว่า



ความสุขยิ่งกว่าความสงบไม่มี นิพพานเป็นความสุขอย่างยิ่ง

เมื่อว่ากันโดยเหตุผลเป็นเช่นนี้ ย่อมเป็นการแสดงว่าการละกิเลสได้จะมากหรือน้อยก็ตามทำให้ผู้ละกิเลสได้เข้าสู่เขตของนิพพานในระดับใดระดับหนึ่ง โดยเฉพาะอย่างยิ่งนิพพานที่เรียกว่า

สันทิฏฐิกนิพพาน คือ นิพพานที่บุคคลจะพึงเห็นได้ด้วยตน เช่นมีเรื่องมากระทบจนเกิดความโกรธอย่างรุนแรง แต่ก่อนที่จะกระทำอะไรลงไปตามแรงกระตุ้นของความโกรธ กลับมีสติยับยั้งความโกรธเอาไว้ได้ จนจิตกลายเป็นความเมตตา กรุณาเป็นต้น บุคคลนั้นสามารถเห็นผลที่เกิดขึ้นจากการฆ่าความโกรธลงไปว่า ให้ความสงบเย็นใจมากน้อยเพียงไร เมื่อมองไปในมุมตรงกันข้ามคือการทำอะไรลงไป ตามอำนาจของความโกรธก็จะเห็นว่า เวร ภัย เป็นอันมากที่จะเกิดขึ้นเผาลนจิตใจของตนให้เกิดความเร่าร้อนจิตหลุดพ้นด้วยอำนาจกิเลสที่เกิดขึ้นเฉพาะเรื่องนั้นๆ ท่านเรียกว่า ตทังควิมุตติ คือจิตหลุดพ้นจากกิเลสได้ชั่วคราว เป็นส่วนหนึ่งของสภาพจิตที่เรียกว่านิพพานซึ่งเป็นการแสดงให้เห็นได้ว่าส่วนเล็กๆของนิพพานนั้น เป็นที่คนปกติทั่วไปที่ใช้สติปัญญาในการดำรงชีวิตสามารถสัมผัสได้ รู้ได้ด้วยใจของตนเอง หากบุคคลไม่อาจพิสูจน์ได้ แม้ด้วยวิธีนี้ก็ต้อง

อาศัย ตถาคตโพธิสัทธาคือการเชื่อในความตรัสรู้ของพระพุทธเจ้าว่าพระองค์ได้ ตรัสรู้ด้วยการทรงบรรลุนิพพาน ทรงสั่งสอนธรรมแก่โลกในระดับต่างๆ ระดับที่สูงสุดนั้น คือเรื่องมรรคผลนิพพานพระพุทธองค์และอรหันต์ทั้งหลายนั้นได้ปรินิพพาน นิพพานไปแล้วมากต่อมาก

ข้อที่ไม่ควรลืมคือการที่บุคคลจะพิสูจน์อะไรก็ตามจะต้องพิสูจน์ตามหลักการและวิธีการเพื่อพิสูจน์ทดสอบเรื่องนั้นๆ โดยเฉพาะอย่าพยายามพิสูจน์กลิ่นหอมของดอกไม้ด้วยสายตาเป็นอันขาดเพราะจะเสียเวลาไปโดยไม่เกิดประโยชน์ตามที่ตนต้องการได้.



ที่มา : ศาสนาพุทธ...ทำไมถึง
http://www.phrabuddhasasana.com/

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น